ทันตกรรมด้านการรักษารากฟัน

หลายคนปล่อยปละละเลยไม่ค่อยดูแลรักษาฟัน ทำให้เกิดปัญหากับฟันต่าง ๆ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดโรคฟันที่ลุกลามทำลายฟันไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน เกิดการอักเสบที่รากฟัน มีเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นในบริเวณฟันที่อักเสบ ซึ่งอาจจะมีการขยายผลเสียไปยังฟันข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดทรมาน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สุดท้ายแล้วก็อาจต้องถอนฟันไป ซึ่งหากต้องถอนฟันหลาย ๆ ซี่ก็คงจะทำให้ต้องใช้ฟันปลอมตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน ทั้งในแง่ของการทำให้เสียบุคลิกภาพ และการทำให้เกิดความรำคาญแก่คนไข้เอง

การรักษารากฟัน

การรักษารากฟันเป็นวิธีรักษารากฟันวิธีหนึ่งที่จะช่วยหยุดยั้งปัญหาฟันเสียหายขั้นรุนแรงได้ เราอาจเรียกการรักษารากฟันในอีกชื่อหนึ่งว่า การรักษาคลองรากฟัน หรือโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีหลักการดูแลรักษารากฟันก็คือ มีการกำจัดประสาทฟันที่อักเสบหรือที่เป็นหนองออก มีการตัดโพรงประสาทฟัน หรือเนื้อเยื่อขนาดเล็กที่อยู่ใจกลางฟัน และมีการจัดรูปทรงและอุดเพื่อทำการปิดคลุมรากฟัน ช่วยทำให้ไม่ต้องถอนฟันจากการเกิดปัญหารากฟันได้ ช่วยให้เราสามารถเก็บรักษาฟันแท้ให้คงอยู่ มีฟันที่ยังสวยงามเหมือนเดิม ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาการใช้ฟันปลอมตั้งแต่อายุยังน้อยอีกต่อไป

สรุปข้อดีของการรักษารากฟัน

การรักษารากฟันจะทำให้คนไข้สามารถรักษาฟันไว้ใช้งานได้ต่อ ไม่ต้องถอนทิ้ง ดีกว่าใช้ฟันปลอม ซึ่งเมื่อทำการรักษารากฟันแล้ว เบ้ากระดูกก็จะยึดฟันให้มั่นคงแข็งแรงเหมือนเดิม การรักษารากฟันช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกจากรากฟันและกระดูกรองรับฟัน ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคซึ่งอาจมีการกระจายสู่เนื้อเยื่อและกระดูกข้างเคียง อีกทั้งยังช่วยกำจัดอาการปวดหนอง ซึ่งมาจากปัญหาที่เกิดจากรากฟันที่ไม่ปกติ แม้การรักษารากฟันอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการถอนฟัน แต่ถ้าเทียบกับการมีฟันที่ยังคงอยู่ ไม่ต้องใส่ฟันปลอม ซึ่งอาจทำให้คนไข้เกิดความรำคาญจากการใส่ได้ ก็ถือว่า การดูแลรักษาฟันโดยการรักษารากฟันก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ควรจะเลือกใช้ในการรักษาฟันเป็นอย่างยิ่งเลยทีเดียว

ขั้นตอนการรักษารากฟัน

ขั้นแรก ทันตแพทย์จะทำการกำจัดเนื้อฟันที่มีการอักเสบหรือติดเชื้อออก แล้วจึงทำความสะอาดรากฟันให้สะอาด ใส่ยาลงไปในรากฟัน และทำการปิดรากฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เมื่อทันตแพทย์ได้ทำการปิดคลองรากฟันแบบถาวรแล้ว ก็จะทำการบูรณะตัวฟัน ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การอุดฟัน ครอบฟันและการใส่เดือยฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโดยตรวจสอบสภาพเนื้อฟันที่เหลืออยู่

ดูแลรักษารากฟันอย่างไร
หลังรับการรักษารากฟันแล้ว ก็ควรทำการดูแลรักษารากฟันต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเอง ดังนี้
– ระมัดระวังในการใช้งานซี่ฟันที่รักษาราก เช่น หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารบริเวณซี่ที่รักษา
– ระหว่างทำการรักษารากฟันโดยใช้วัสดุอุดฟันชั่วคราว หากวัสดุเกิดหลุดออกไป ให้รีบพบทันตแพทย์ทันทีเพื่อทำการแก้ไข เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจจะเกิดเชื้อโรคในช่องปากเข้าสู่ภายในคลองรากฟันได้
– ควรปฏิบัติตามคำสั่งทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยการรักษาคลองรากฟันเป็นงานที่ต้องทำการดูแลอย่างต่อเนื่อง หากไม่ดูแลให้ดี การรักษารากฟันอาจไม่เป็นผลได้

โดยปกติแล้วการรักษารากฟันจะใช้เวลาในการรักษาราว 2-3 ครั้ง หรืออาจจะหลายครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของฟันว่ามีอาการอักเสบมากน้อยเพียงใด ทันตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งหลังจากทำการรักษาแล้ว ก็ควรตรวจต่อไปอย่างน้อย 2-3 ปีเพื่อให้แน่ใจว่าโรคที่เกิดขึ้นบริเวณปลายรากฟันหายดีเป็นปกติแล้ว ในช่วง 2-3 วันแรกที่ทำการรักษารากฟัน คนไข้บางคนอาจมีอาการข้างเคียงจากการรักษา เช่น มีความรู้สึกปวดฟันหรือเสียวฟัน สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้โดยการรับประทานยาแก้ปวด

รักษารากฟันเมื่อไหร่ดี
จะทราบได้อย่างไรว่าต้องรักษารากฟัน ควรหมั่นสังเกตสภาพฟันของตนเองว่ามีลักษณะต่อไปนี้หรือไม่
– มีฟันผุลึกมากจนเห็นโพรงฟัน
– มีฟันแตกหรือหักทะลุโพรงฟัน
– มีหนองเกิดขึ้นบริเวณปลายราก
– ฟันอักเสบ หรือเนื้อเยื่อในโพรงฟันตาย
โดยปกติแล้วเนื้อเยื่อในโพรงฟันสามารถต้านทานการอักเสบที่ไม่รุนแรงได้ แต่หากฟันผุลึกมากเกินไป หรือเกิดแตกหักจนทะลุเข้าไปในโพรงฟัน อาจจะทำให้เนื้อเยื่อในโพรงฟันถูกทำลายและตายได้

การรักษารากฟันจะอยู่ได้นานหรือไม่
เมื่อรักษารากฟันแล้ว หากได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องก็สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิต ควรทำการบูรณะฟันซี่ที่รักษารากเสร็จแล้วด้วยการทำเดือยฟันและครอบฟันเพื่อความแข็งแรง อย่างไรก็ตาม อาการฟันผุก็ยังเกิดได้ตลอดเวลาหากฟันไม่ได้รับการดูแลให้ดี เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับฟัน ควรหมั่นตรวจสภาพฟันด้วยตนเองและพบ
ทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน หากปฏิบัติได้อย่างนี้ ฟันสวยคู่รอยยิ้มก็จะอยู่คู่กับเราไปนาน ๆ อย่างแน่นอนค่ะ