ทันตกรรมด้านขูดหินปูน

เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมทันตแพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้หมั่นตรวจฟันและขูดหินปูนทุก 6 เดือน หินปูนส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ก่อนอื่นมาทราบกันก่อนว่าหินปูนคืออะไร หินปูนก็คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว ด้วยมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน แผ่นคราบจุลินทรีย์ มีคราบสีขาวเกิดขึ้นซึ่งเกิดเป็นเชื้อโรคบนตัวฟัน

หลังจากแปรงฟันราว 2-3 นาทีจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน และจะมีเชื้อโรคเกาะทับถมกัน เมื่อมีมาก ๆ ก็จะเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งคราบเหล่านี้จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์และโรคฟันผุ ด้วยจุลินทรีย์จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ กรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ และสารพิษจะทำให้เหงือกนั้นอักเสบ

ความจำเป็นของการขูดหินปูน

หากคราบจุลินทรีย์ได้สะสมยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือก จะทำให้ไม่สามารถเอาออกได้ด้วยการทำความสะอาดฟันด้วยตนเอง จะต้องอาศัยทันตแพทย์ในการกำจัดหินปูนให้ โดยทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูนทั้งส่วนบนของเหงือกและส่วนใต้เหงือก แล้วจึงทำรากฟันให้เรียบ เพื่อให้เหงือกติดแน่นรอบตัวฟันเหมือนเดิม หากคนไข้ต้องการจะขูดหินปูนให้หมด อาจต้องใช้เวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ และความแข็งของหินปูน หากคนไข้เป็นโรคปริทันต์ ทันตแพทย์จะตรวจและประเมินเหงือกว่าหายจากโรคปริทันต์แล้วหรือยัง ซึ่งหากคนไข้หมั่นทำความสะอาดฟันให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ โรคปริทันต์ก็จะหาย แต่หากคนไข้ละเลย โอกาสที่จะเกิดโรคปริทันต์อีกครั้งก็อาจเป็นไปได้เช่นกัน

เริ่มขูดหินปูนเมื่อไหร่ดี   

การขูดหินปูน สามารถขูดได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ตั้งแต่ที่มีฟันน้ำนมไปจนถึงวัยผู้สูงอายุเลยทีเดียว ซึ่งโดยปกติแล้วหากไปขูดหินปูนแล้ว ภายใน 2-3 เดือน ทันตแพทย์อาจจะนัดให้ผู้ป่วยมาทำความสะอาดอีกครั้ง และหากตรวจพบแล้วว่าไม่มีเหงือกอักเสบ ไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์ก็จะนัดรอบต่อไปเป็น 6 เดือนครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพฟันต่อไป

ผลกระทบจากการขูดหินปูน

การขูดหินปูนอาจจะทำให้คนไข้เกิดอาการเสียวฟัน หรืออาจจะมีอาการเจ็บเหงือกบ้าง ซึ่งทันตแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพฟัน เพื่อลดอาการเสียวฟัน สำหรับเหงือก ก็จะเป็นเรื่องของการดูแลรักษาความสะอาดฟันให้ถูกต้อง ทำอย่างสม่ำเสมอ อาการจะค่อย ๆ หายไปเอง

การป้องกันการเกิดหินปูน

สามารถป้องกันได้เบื้องต้นคือ การทำความสะอาดฟันให้สะอาด โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี ทำความสะอาดซอกฟัน และนวดเหงือก ทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ไหมขัดฟัน การแปรงระหว่างซอกฟัน การใช้ไม้กระตุ้นเหงือก ปุ่มนวดเหงือก ซึ่งจะใช้วิธีการใดนั้นควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนทุกครั้ง

กำจัดคราบจุลินทรีย์ก่อนเกิดหินปูนได้อย่างไร

การกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก สามารถทำได้โดยการแปรงฟันให้สะอาด อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งในตอนเช้า และก่อนนอน หากแปรงฟันได้ทุกมื้อหลังอาหารได้จะยิ่งดีต่อสุขภาพฟัน หมั่นทำความสะอาดซอกฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวาน ๆ และควรพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟันให้เป็นปกติ ซึ่งหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที

ขูดหินปูนเจ็บหรือไม่

หลายคนอาจสงสัยว่า ขูดหินปูนมีอาการเจ็บมากหรือไม่ กล่าวได้ว่าในการขูดหินปูนนั้นทันตแพทย์จะนำเครื่องมือเฉพาะทางของเครื่องมือฟันไปกะเทาะเอาคราบหินปูนออก ซึ่งจะทำให้คนไข้อาจมีอาการเสียวฟันบ้างในบางตำแหน่ง แต่ไม่ได้ทำให้มีความเจ็บปวดอะไร สำหรับคนไข้ที่มีหินปูนมาก ๆ อาจจะมีความรู้สึกเจ็บเล็กน้อยบริเวณเหงือก และมีเลือดออกเล็กน้อย ซึ่งมาจากเหงือกที่อักเสบนั่นเอง อาการจะดีขึ้นหลังจากขูดหินปูนเสร็จ ซึ่งหลังขูดหินปูนเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทันตแพทย์จะทำความสะอาดในช่องปากให้สะอาดอีกครั้ง

ดังนั้นหากไม่ต้องการให้หินปูนเยอะมาก ก็ควรพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันเหงือกไม่ให้อักเสบด้วย อีกทั้งยังทำให้ช่องปากสะอาดและไม่มีกลิ่นปากด้วยค่ะ

การขูดหินปูนเป็นประจำ จะทำให้ชินกับการขูดหินปูน และไม่รู้สึกเจ็บเลย ไม่เกิดการสะสมของจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อโรคในช่องปาก เพื่อสุขภาพฟันที่ดี อย่าลืมหมั่นดูแลสุขภาพฟันให้สะอาด พบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำด้วยนะคะ เพื่อทุกท่านที่ปฏิบัติจะได้มีสภาพฟันที่แข็งแรง มีความมั่นใจทุกครั้งเมื่อต้องพบเจอกับคนอื่น ฉีกยิ้มได้เต็มที่ด้วยรอยยิ้มอันสดใส พร้อมฟันที่สะอาดแข็งแรงค่ะ