ทันตกรรมด้านฟันคุด

โดยปกติแล้วฟันจะมีอยู่ 2 ชนิด นั่นคือ ฟันน้ำนมและฟันแท้ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น ฟันน้ำนมจะหลุดออกไป กลายเป็นฟันแท้ ซึ่งหากทุกอย่างปกติ นับ ๆ ดูแล้วจะมีฟันแท้ทั้งหมด 32 ซี่ หากไม่ครบ ฟันซี่สุดท้ายที่ขึ้นมาแล้วเฉียง ๆ เอียงติดฟันข้างเคียง ไม่ได้ฝังอยู่ในขากรรไกรทั้งซี่ ฝังอยู่แค่บางส่วนของซี่ฟัน เราจะเรียกฟันแบบนี้ว่า ฟันคุด

ฟันคุด มีกี่ชนิด

ฟันคุดมีทั้งหมด 4 ชนิด ดังนี้

  • ฟันคุดชนิดล้มไปด้านหน้า โดยฟันนั้นจะหักเป็นมุมไปทางด้านหน้าของปาก ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นชนิดนี้กันมาก
  • ฟันคุดชนิดตั้งตรง ชนิดนี้เป็นลักษณะฟันงอกไม่พ้นขอบเหงือกทั้งหมด
  • ฟันคุดชนิดหันส่วนตัวฟันออก หมายถึง ฟันที่มีลักษณะงอไปด้านหลังของปาก
  • ฟันคุดชนิดวางตัวในแนวราบ จะพบชนิดนี้ได้น้อยที่สุด มีลักษณะเป็นฟันกรามทำมุม 90 องศาไปทางด้านข้าง เข้าไปในรากของฟันกรามซี่ที่สอง
  • ฟันกรามซี่สุดท้ายนั้นหากงอกพ้นขากรรไกรแต่ยังไม่พ้นขอบเหงือก จะเรียกว่า ฟันคุดโดยไม่ต้องกรอกระดูกและฟัน แต่หากฟันยังมีบางส่วนอยู่ในขากรรไกร เราจะเรียกว่า ฟันคุดโดยต้องกรอกระดูกและฟัน

 

เอาฟันคุดออกเมื่อช่วงอายุใดดี

ช่วงอายุระหว่าง 16-25 ปี เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเอาฟันคุดออก เพราะเป็นช่วงที่รากของฟันยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กระดูกขากรรไกรยังมีไม่มาก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อฟันไม่มากนัก

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดฟันคุด

หากเมื่อได้รับนัดการผ่าตัดถอนฟันคุดจากทันตแพทย์แล้ว ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา สามารถทำได้ดังต่อไปนี้
– รับประทานอาหารให้พอดี ไม่อดอาหารหรือรับประทานอาหารมากจนเกินไป
– ไม่ควรนอนดึกก่อนวันผ่าตัด ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เกร็ง เพราะการเกร็งอาจจะทำให้ขากรรไกรค้างได้
– ควรงดสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนวันทำการผ่าตัด
– ควรแปรงฟันให้สะอาดก่อนเข้ารับการผ่าตัด
– ก่อนทำการรักษาควรแจ้งทันตแพทย์ให้ละเอียดถึงโรคประจำตัวที่มีทั้งหมด เพราะบางโรคอาจมีผลทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้

วิธีการเอาฟันคุดออก

วิธีการเอาฟันคุดออกนั้น อาจจะต้องทำการผ่าตัดฟันคุด เพราะฟันคุดส่วนใหญ่มักจะติดกับฟันข้างเคียง บางซี่ก็จะอยู่ในเหงือก ซึ่งการถอนหรือดึงฟันแบบธรรมดาไม่สามารถเอาฟันคุดออกได้ จึงต้องใช้การผ่าตัด เพื่อรักษาฟันข้างเคียงและลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ซึ่งการผ่าตัดฟันคุดนั้นใช้เวลาราว 20-40 นาที มีวิธีการดังนี้

ขั้นตอนแรกทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อระงับความรู้สึก แล้วจึงเปิดเหงือกให้เห็นฟัน หลังจากนั้นทันตแพทย์จึงจะใช้เครื่องมือเพื่อถอนฟันคุดออกมา ในกรณีที่ฟันคุดฝังตัวในแนวเอียงหรือแนวนอน ทันตแพทย์จะใช้เครื่องกรอแบ่งฟันเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วคีบออกมา แล้วจึงล้างน้ำเกลือ ทำการล้างทำความสะอาดแผล ทำการเย็บแผล สามารถกลับบ้านโดยไม่ต้องพักฟื้น เพราะเลือกที่ไหลออกมาหลังผ่าตัดฟันคุดจะหยุดไหลได้เอง ในระยะเวลาไม่นาน

ฟันคุดมีผลอย่างไรบ้าง

หากมีฟันคุด ผลกระทบที่ตามมาอย่างแน่นอนคือ อาการปวด ด้วยตัวฟันคุดจะมีแรงผลักเพื่องอกขึ้นมาในขากรรไกร ซึ่งอาจทำให้กดเส้นประสาทของขากรรไกร เกิดอาการปวด ซึ่งไม่ปวดเฉพาะฟันเท่านั้น อาจส่งผลไปยังบริเวณอื่นด้วย เช่น ปวดตา ปวดศีรษะ ปวดหู

– ฟันคุดทำให้เกิดแรงดันที่อาจส่งผลให้ฟันข้างเคียงเกิดผลกระทบจนฟันบิดซ้อนกันได้

– ฟันคุดทำให้ฟันผุ เพราะฟันคุดนั้นจะทำความสะอาดได้ยาก และมักจะอยู่ลึกเข้าไป นาน ๆ ไปจะมีเศษอาหารสะสมทำให้ฟันผุง่าย ซึ่งอาจจะส่งผลให้ฟันข้างเคียงผุจนไม่สามารถรักษาได้

– ฟันคุดทำให้เหงือกอักเสบ ด้วยเมื่อมีการค้างของเศษอาหารที่อยู่ใต้เหงือกที่คลุมอยู่ กลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เหงือกเกิดการอักเสบได้ง่าย

– ฟันคุดทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เพราะฟันคุดอาจทำให้ขากรรไกรบวม ยิ่งหากเกิดรุนแรงอาจจะทำให้ลุกลามไปลงถึงคอด้วย

– คนที่มีฟันคุดนั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดถุงน้ำในกระดูกขากรรไกร ซึ่งหากปล่อยไว้ให้ใหญ่เกินไป อาจจะทำให้ต้องทำการผ่าตัดขากรรไกรออก ส่งผลต่อรูปใบหน้าที่อาจเปลี่ยนไปได้

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดฟันคุด

หลังจากผ่าตัดฟันคุด เมื่อทันตแพทย์ทำการเย็บแผล ทันตแพทย์จะยังให้คนไข้กัดผ้าก๊อซอยู่ เนื่องจากอาจยังมีเลือดไหลอยู่หลังจากผ่าตัด อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเอาออกก่อน หากมีเลือดซึมเรื่อย ๆ  ก็ให้กัดผ้าก๊อซต่อไปจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ระหว่างนั้นอาจจะใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณกกหู ราว 3-4 ชั่วโมงเพื่อลดอาการบวม หลังจากนั้นราววันที่ 2 ให้เปลี่ยนมาเป็นประคบด้วยน้ำอุ่น จะช่วยให้แผลสมานหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามอาจมีคนไข้บางรายมีอาการปวดฟัน ซึ่งหากมีอาการปวดฟันเล็กน้อย ก็ให้รับประทานยาแก้ปวดตามที่ทันตแพทย์แนะนำ แต่หากมีอาการปวดฟันมากผิดปกติ ควรรีบพบทันตแพทย์ทันที สำหรับการแปรงฟันหลังจากผ่าตัดฟันคุดนั้น สามารถแปรงฟันได้ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้แปรงไปโดนแผลที่มีรอยการถอนฟัน เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองในบริเวณที่ทำการผ่าตัดฟันคุด