ทันตกรรมด้านจัดฟัน

การจัดฟันเป็นวิธีการทางทันตกรรมวิธีหนึ่งซึ่งทันตแพทย์จะแนะนำให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านการสบฟัน การสบฟันที่ผิดปกติให้มีการสบฟันที่ดีขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของการบดเคี้ยวอาหารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดฟันผุหรือโรคเหงือก ช่วยหลีกเลี่ยงการสึกของฟันที่ผิดปกติจากการเรียงฟันที่ไม่เหมาะสม และสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาความผิดปกติของขนาดและความสัมพันธ์ของขากรรไกรต่อใบหน้า การจัดฟันก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้จัดฟัน ทำให้มีฟันที่เรียงสวยงาม เพิ่มความมั่นใจให้กับเจ้าของได้เป็นอย่างดี

อายุเท่าไหร่ดี จึงสามารถจัดฟันได้

หากจะกล่าวถึงวัยที่เหมาะสมสำหรับการจัดฟันแล้วนั้น กล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วการจัดฟันสามารถทำได้ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเริ่มจัดฟันกับเด็กที่มีฟันแท้เกือบครบนั่นคือ ราว 11-13 ปี เพราะเป็นวัยที่จะเริ่มมีปัญหาการสบฟันผิดปกติ ทันตแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยการรักษาว่าเหมาะสมสำหรับการจัดฟันหรือไม่ อย่างไร จัดฟันได้เฉพาะบางส่วนหรือสามารถจัดฟันทั้งปากได้

การจัดฟันเจ็บมากหรือไม่
เมื่อมีการปรับหรือเปลี่ยนลวดที่ใช้ในการจัดฟัน ในช่วงแรกนั้นคนไข้อาจจะรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อย จะรู้สึกตึงบ้าง อย่างไรก็ตามหากมีความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงผิดปกติควรบอกกับทันตแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บที่มีมากกว่าปกติ

การตรวจสุขภาพฟันก่อนการจัดฟัน

ก่อนตัดสินใจทำการจัดฟัน คนไข้ควรได้รับการตรวจสุขภาพฟันโดยทั่วไปก่อน เช่น หากมีฟันผุก็ควรอุดให้เรียบร้อย หากมีโรคเหงือกในฟันก็ควรได้รับการรักษาในระดับควบคุมได้ นอกจากนี้ควรขูดหินปูนให้สะอาดก่อนการจัดฟันด้วย สำหรับคนไข้ที่จำเป็นต้องได้รับการถอนฟันในกรณีฟันเก หรือฟันยื่น ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันให้เรียบร้อยก่อน เพื่อประโยชน์ในการจัดฟันให้สวยงามนั่นเอง

สำหรับ”ค่าใช้จ่ายในการรักษาโดยการจัดฟัน”นั้น จะขึ้นอยู่กับความผิดปกติของฟัน เครื่องมือที่ใช้ และระยะเวลาในการรักษา ซึ่งคนไข้ควรสอบถามค่าใช้จ่ายก่อนการจัดฟันเพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันตามที่ต้องการ

ระหว่างการจัดฟัน ควรดูแลทำความสะอาดฟันอย่างไร

การจัดฟันอาจต้องใช้ระยะเวลานาน ระหว่างนั้นคนไข้ควรจะดูแลรักษาทำความสะอาดฟันให้ถูกวิธี และสม่ำเสมอ ควรแปรงฟันและทำความสะอาดฟันหลังอาหารทุกมื้อ กรณีใช้เครื่องมือชนิดถอดได้ ก็ควรทำความสะอาดเครื่องมือด้วยแปรงสีฟันและยาสีฟันด้วย สำหรับคนไข้ที่ใช้เครื่องมือชนิดติดแน่น ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทกรอบและแข็ง เช่น ถั่ว หรือน้ำแข็ง เพราะอาจจะทำให้เครื่องมือที่ติดกับฟันหลุดออกได้ การจัดฟันถือเป็นวิธีที่จะช่วยให้คนไข้ที่มีปัญหาการสบฟันที่ผิดปกติ สามารถเลือกใช้วิธีนี้ในการดูแลรักษาฟันตัวเองได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้มีฟันที่เรียงสวยงามแล้ว ยังช่วยให้ฟันได้รับการตรวจดูแลอย่างต่อเนื่องอีกด้วย อย่างไรก็ตามก่อนที่จะตัดสินใจรักษาฟันโดยการจัดฟัน ควรวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ว่าตัวเองมีความพร้อมที่จะจัดฟันหรือไม่ ทั้งในเรื่องของปัญหาฟัน ระยะเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้ประเมินผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปค่ะ

ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟัน

ทราบหรือไม่ว่า เครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟันมีกี่แบบ คำตอบก็คือ 2 แบบนั่นเอง แบ่งเป็นแบบถอดได้ และแบบติดแน่น โดยเครื่องมือแบบถอดได้นี้มีลักษณะเป็นพลาสติก มีลวดสำหรับยึดกับฟันหรือใช้เคลื่อนฟัน หรือใช้สำหรับการเสริมขากรรไกรให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ เครื่องมือแบบถอดได้ยังช่วยคงตำแหน่งของฟันหลังการจัดฟันจนกว่าฟันและเหงือกจะปรับลักษณะเข้าได้กับตำแหน่งใหม่

สำหรับแบบที่ 2 ก็คือ เครื่องมือแบบติดแน่น ประกอบด้วยแบร็กเก็ต สำหรับฟันด้านหน้า และฟันหลังอาจใช้ตัวแบรนด์ที่มีท่อบัดกรีสวมบนฟัน ป้องกันไม่ให้ท่อหลุดออกจากผิวฟัน