ทันตกรรมด้านการถอนฟัน

การถอนฟัน เป็นวิธีการรักษาฟันวิธีหนึ่งซึ่งเป็นการรักษาสุขภาพช่องปากที่ทำได้รวดเร็วกว่าวิธีอื่น ซึ่งทันตแพทย์จะให้คำแนะนำสำหรับคนไข้ให้ถอนฟันเมื่อเกิดสภาวะต่าง ๆ กันไป เช่น สภาพฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน หรือฟันที่มีหนองปลายรากฟันและมีอาการบวมบริเวณหน้าจนไม่สามารถให้การรักษาด้านอื่นได้ ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุส่งผลทำให้ฟันหักหรือขากรรไกรหัก ฟันคุดหรือฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ ฟันที่มีโรคปริทันต์รอบ ๆ ตัวที่รุนแรง ฟันที่เกินขึ้นมาทำให้ฟันดูไม่เป็นระเบียบ ฟันที่มีรูปร่างผิดปกติหรือฟันที่ขึ้นตำแหน่งที่ผิดปกติ สภาวะต่าง ๆ เหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดปัญหากับฟันซี่อื่น ๆ ได้ ซึ่งการถอนฟันถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีเลยทีเดียว

การเตรียมตัวก่อนการถอนฟัน

หากตัดสินใจถอนฟันแล้ว ควรเตรียมตัวก่อนการถอนฟันด้วยการเตรียมร่างกายให้พร้อม ทำใจให้สบาย นอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ หากมีโรคประจำตัวให้แจ้งทันตแพทย์ทราบก่อนการถอนฟัน และไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไปเพราะอาจเกิดปัญหาภายหลังถอนฟันได้ เช่น การสำลักอาหารระหว่างถอนฟัน เป็นต้น

 

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้มีโรคประจำตัว

เบื้องต้นทันตแพทย์จะทำการซักถามประวัติของคนไข้ก่อนว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง รวมถึงจะวัดความดันโลหิต ตรวจนับชีพจร อย่างไรก็ตามอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าหากมีโรคประจำตัวเช่น เป็นโรคเบาหวาน หัวใจ หรือความดันโลหิตสูง ฯลฯ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบอย่างละเอียด เพราะบางโรค เช่น ผู้ที่มีประวัติโรคเลือดออกง่าย เมื่อทำการถอนฟันอาจจะทำให้ต้องสูญเสียเลือดหลังจากถอนฟันในปริมาณมาก จนเกิดอันตรายต่อคนไข้ได้

วิธีการถอนฟัน

ทันตแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้และจะทำการเอ๊กซ์เรยฟัน เพื่อดูรายละเอียดของฟันซี่ที่จะถอน ทั้งความยาว รูปร่างและตำแหน่งของฟัน กระดูกบริเวณรอบ ๆ ฟัน เมื่อทันตแพทย์ได้เห็นฟันก็จะสามารถประเมินความยุ่งยากในกระบวนการถอนฟันได้ หลังจากนั้นก็จะทำการฉีดยาชาบริเวณรอบฟันที่จะถอน แล้วจึงใช้เครื่องมือแซะในการทำให้ฟันหลวมจากเหงือก แล้วจึงถอนฟันด้วยคีมถอนฟัน และปรับสภาพกระดูกที่อยู่ด้านล่างให้มีความเรียบเนียนยิ่งขึ้น ทำการถอนฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จึงจะทำการปิดแผลด้วยการเย็บแผลและให้กัดผ้าก๊อซ

หลังการถอนฟันควรปฏิบัติอย่างไร

หลังถอนฟันแล้ว คนไข้ควรปฏิบัติตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ซึ่งหากมีอาการปวด โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะให้ยารับประทานแก้ปวดหลังจากถอนฟันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหลังถอนฟันทันตแพทย์จะพันผ้าก๊อซบริเวณฟัน ให้คนไข้กัดผ้าก๊อซต่อเนื่องไปราว 1 ชั่วโมง หากมีเลือดหรือน้ำลายให้กลืน ระหว่างนี้ห้ามบ้วนน้ำหรือน้ำลาย และเพื่อป้องกันอาการบวมหลังการถอนฟันให้ทำการประคบน้ำแข็ง ควรงดสูบบุหรี่หรือทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24 ชั่วโมง และควรหลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณแผลไปก่อนราว 1-2 วัน เพื่อให้รอยสมานแผลในซี่ฟันที่ถอนอยู่ในภาวะปกติก่อน ควรเลือกรับประทานอาหารที่รับประทานง่าย ไม่ต้องเคี้ยวมาก และควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ควรแคะแผลด้วยเครื่องมือใด ๆ ในบริเวณฟันที่ถูกถอนเพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อโรคได้ สำหรับการออกกำลังกายไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นสาเหตุทำให้แรงดันเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้

อาการที่ควรพบทันตแพทย์ทันที เมื่อเกิดขึ้นหลังการถอนฟัน

– ปวดฟันมาก ๆ แม้รับประทานยาแก้ปวดแล้วก็เอาไม่อยู่

– อาการปวดลุกลามไปจนถึงบริเวณกกหู ใต้ตา คอในด้านที่ฟันถูกถอนไป
– มีกลิ่นปากรุนแรง
– เมื่อรับประทานอาหารมีความรู้สึกว่ารสชาติผิดเพี้ยนไปไม่เป็นปกติ
– มีลิ่มเลือดคลุมแผลที่ถอนฟัน สังเกตได้จากการดูแผลบริเวณที่ถอนฟัน
– มีไข้ บางรายพบว่ามีต่อมน้ำเหลืองโต

บางรายอาจมีอาการปวดแผลถอนฟันชนิดรุนแรง สำหรับกรณีที่เกิดกับฟันแท้ เราจะเรียกว่า กระดูกเบ้าฟันอักเสบ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นคนไข้จะมีอาการปวดแผลอย่างรุนแรง อาการมักเกิดขึ้นในวันที่ 3 หรือ 4 หลังจากถอน โดยปกติแล้วหากมีลิ่มเลือดมาปิดกระดูกและปลายประสาทจะทำให้อาการปวดนั้นเริ่มจางลง เพราะลิ่มเลือดจะช่วยให้เกิดการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อขึ้นมาใหม่ทดแทนช่องว่างของฟันที่ถูกถอนไป แต่หากมีอาการปวดเช่นเดิม ไม่หายแต่กลับรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ควรไปซื้อยาแก้ปวดมารับประทานเอง แต่ควรพบทันตแพทย์จะดีที่สุด เพราะหากเป็นสัญญาณอาการปวดฟันที่รุนแรง ทันตแพทย์จะได้ทำการรักษาอย่างทันท่วงที