ทันตกรรมด้านการครอบฟัน

การครอบฟันดีอย่างไร  คำตอบก็คือ การครอบฟันจะช่วยปกป้องฟันที่อ่อนแอด้วยเหตุจากการแตกหักบิ่นหรือผุมาก ช่วยปกป้องรากฟันให้แข็งแรง ช่วยปกปิดฟันซี่ที่ไม่สวยงามด้วยการครอบฟันที่มีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม ช่วยรักษาตำแหน่งของฟันและช่วยให้ฟันใช้งานได้ตามปกติ  ช่วยซ่อมแซมและคงสภาพของการสบฟันของผู้ใช้ตามธรรมชาติ ช่วยซ่อมแซมฟันที่มีรูใหญ่ หรือฟันที่มีวัสดุอุดเดิมที่ใหญ่เกินไป ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเหตุผลทั้งหมดก็เพื่อช่วยให้ผู้ที่ครอบฟันมีความมั่นใจการยิ้ม และการพบปะผู้คน แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับฟันอย่างไรก็ตาม ซึ่งการรักษาโดยการครอบฟันจะช่วยแก้ปัญหาความไม่มั่นใจเหล่านี้ได้ ประเภทของการครอบฟันนั้นมี 3 ประเภทด้วยกัน นั่นคือแบบเซรามิคและโลหะ แบบเซรามิคล้วน และแบบโลหะล้วน (ทอง)

การพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่ทำการครอบฟัน

สำหรับการทำครอบฟัน โดยเฉพาะการครอบฟันหน้า เราควรพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่มีสีเหมือนธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อความสวยงาม มีให้เลือกดังต่อไปนี้

  • พลาสติกหรืออะคริลิก
    วัสดุชนิดนี้มีความสวยงาม และแวววาวสดใสคล้ายฟันธรรมชาติ มีข้อจำกัดก็คือ ไม่ค่อยคงทนเท่าไหร่นัก มีการเปลี่ยนสีได้ง่าย ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
  • พอร์ซเลน
    เป็นวัสดุที่มีความสวยงามเช่นกัน มีความคงทนพอใช้ แตกหักง่ายหากถูกกระทบแรง ๆ แบบนี้มักไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก
  • -พอร์ซเลนที่ยึดติดอยู่บนฐานโลหะผสม
    ครอบฟันที่มีโครงเป็นโลหะผสมที่ไม่มีทองปน จะมีสีสันด้อยกว่าการครอบฟันที่มีโครงเป็นโลหะผสมทองปนอยู่ หากมีเนื้อทองในปริมาณมากจะทำให้การยึดเกาะระหว่างพอร์ซเลนกับโครงโลหะดียิ่งขึ้น

ครอบฟันแบบโลหะ

แบ่งได้เป็น2กลุ่มคือ
กลุ่มโลหะผสมชนิดม่มีทอง เป็นส่วนผสมแต่มีส่วนผสมเป็นโครเมียมเบริลเลียมและโคบอลต์ผสมกันเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติแข็งแกร่ง มีสีเงินวาวเหมือนสแตนเลส มีสีสันที่ไม่สวยนัก ชนิดโลหะนี้สามารถใช้เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับตัวพอร์ซเลนเป็นตัวโครงให้กับพอร์ซเลนได้

กลุ่มโลหะผสมชนิดที่มีทอง เป็นส่วนผสมแบ่งออกเป็นแบบ Palladium-base-allay (มีทองผสมอยู่ร้อยละ2 มี   แพลเลเดียมเป็นส่วนประกอบหลัก) แบบ Semi-precious allay (มีทองผสมอยู่ราวร้อยละ 50 ผสมกับโลหะเงินและแพลทินัม) แบบ Precious allay (มีทองผสมอยู่ร้อยละ 85)

วิธีการดูแลรักษาฟันหลังการทำครอบฟัน

หลังทำการครอบฟัน ควรใส่ใจในการดูแลรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และควรทำความสะอาดฟันด้วยไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง ควรบ้วนปากด้วยน้ำยาผสมฟลูออไรด์ก่อนนอนทุกวัน โดยทำการกลั้วน้ำยาและอมไว้ในปากอย่างน้อย 1 นาทีก่อนบ้วนปากทิ้ง และควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือนเพื่อจะตรวจสภาพฟันให้อยู่ในสภาพปกติ

ก่อนทำการครอบฟันชนิดต่าง ๆ ผู้ที่ต้องการครอบฟันควรศึกษาและเลือกวัสดุที่ใช้ทำครอบฟันให้เหมาะกับตัวเองจะเป็นการดีที่สุด เพื่อให้การทำครอบฟันให้ความคุ้มค่าทั้งในคุณภาพของการครอบฟันที่ได้รับ รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม อาจจะให้ทันตแพทย์ช่วยยึดครอบฟันแบบชั่วคราวไปก่อนก็ได้ เพื่อประเมินว่ามีความพร้อมที่จะทำการครอบฟันแบบถาวรแล้วหรือไม่

ขั้นตอนการรักษาด้วยการทำครอบฟัน

ขั้นตอนการรักษาเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและการเตรียมฟัน ทันตแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณฟันซี่ที่จะทำ หลังจากนั้นจึงจะกรอฟันเพื่อเป็นฐานให้กับการครอบฟัน มีการจดบันทึกสีและขนาดรูปร่างของฟันที่ต้องการทำการครอบฟัน มีการพิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง ซึ่งจะถูกส่งต่อไปยังห้องแล็บต่อไป ระหว่างรอครอบฟันทันตแพทย์จะทำการติดครอบฟันแบบชั่วคราวให้กับคนไข้ไปใช้งานก่อน เมื่อได้ครอบฟันถาวรจากห้องแลป ทันตแพทย์จึงจะทำการรื้อครอบฟันแบบชั่วคราวออก และทำการยึดติดครอบฟันแบบถาวรลงบนฟัน ทันตแพทย์จะตรวจสอบปรับแต่งเพื่อให้ฟันอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม

ข้อควรปฏิบัติหลังการเข้ารับการครอบฟัน

หลังการครอบฟันมีข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ เพื่อให้การครอบฟันสามารถมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

  • หลังการยึดติดครอบฟันให้หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งภายใน 24 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงอาการบวมหลังจากทำครอบฟันได้ ด้วยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
  • ควรหมั่นดูแลความสะอาดบริเวณที่ติดครอบฟันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาการเกิดโรคเหงือกที่อาจเกิดตามมา

– หลังคนไข้รับการครอบฟัน อาจเกิดปัญหาการเสียวฟันตามมา สามารถแก้ได้โดย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด หรืออาหารที่มีความเป็นกรดสูง หากมีอาการปวดฟันมากอาจรับประทานยาแก้ปวดเพื่อลดอาการเสียวฟันได้ หลังการครอบฟันควรเลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไปก่อน และทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี รวมทั้งเลือกใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีสารฟลูออไรด์สูง